ประวัติย่อ
หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป นามสกุลเดิม วงษาจันทร์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ตรงกับวันพฤหัสบดี ปีระกา ณ บ้านโคกคอน ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร บิดาชื่อ อรดี สกุลเดิม จุลราชภักดี ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ ในพี่น้องทั้งหมด ๖ คน บิดามารดาทำการค้าขาย มีฐานะดี คุณตาเป็นกำนันอยู่ที่ตำบลโคกสี ชื่อ ขุนจุลราชภักดี และคุณยายรักหลานคนนี้มากจึงรับมาเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเล็กๆ
สมัยเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนบ้านโคกคอน ท่านเรียนเก่งมากและมีอุปนิสัยเป็นผู้ใฝ่เรียน จึงมีความประสงค์จะเรียนต่อ แต่มารดาต้องการให้ท่านมาช่วยงานค้าขายของบิดา และเนื่องจากท่านเป็นผู้ทีมีความรับผิดชอบในการทำงานสูง ญาติพี่น้องและผู้ใกล้ชิดไว้ใจ จึงได้พากันนำเงินมาฝากท่านเหมือนหนึ่งเป็นธนาคาร ท่านก็เก็บรักษาให้เขาโดยไม่ได้อะไรตอบแทน
ท่านมีความสนใจในการรักษาคนเจ็บป่วย โดยท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่องยา การรักษาคนไข้จากหมอประจำอำเภอซึ่งเป็นญาติกัน หลังจากผ่านการคัดเลือกทหารแล้ว คุณหมอจึงคิดจะส่งท่านไปเรียนต่อที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งคุณตาก็สนับสนุน แต่มารดาไม่อนุญาต ต้องการให้ท่านดูแลการค้าต่อไปท่านได้มีโอกาสคุ้นเคยกับพระสงฆ์มาตั้งแต่อายุ ๑๑-๑๒ ปี หลวงปู่พรหม จีรปุญโญ ได้สอนให้ท่านเดินจงกรม จึงถือได้ว่าหลวงปู่พรหมเป็นพระอาจารย์องค์แรกของท่าน
ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็คิดจะบวชอยู่ตลอดเวลา แต่มารดาก็ไม่อณุญาตทั้งๆที่โยมมารดาเองก็ไปวัดถือศีลทุกวันพระ และบางครั้งเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จนกระทั่งบิดาของท่านถึงแก่กรรมใน พ.ศ. ๒๔๙๗ และอีก ๕ ปีต่อมา คุณลุงถึงแก่กรรมอีก ท่านจึงใช้ความพยายามขอบวชอีกครั้งหนึ่งเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ มารดาและคุณตาทนการรบเร้าของท่านไม่ไหว จึงอนุญาตให้บวชแค่เพียง ๗ วัน ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุ ๒๕ ปีท่านเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดธาตุมีชัย บ้านโคกตอน ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ พระอุปัชฌาชื่อ พระครูอดุลย์สังฆกิจ พระกรรมวาจารย์ชื่อ พระครูพิพิธธรรมสุนธร ได้ฉายาว่า ปัญญาปทีโป ต่อมาท่านได้ย้ายไปอยู่วัดทุ่งสว่าง บ้านโคกคอน ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ท่านมีความสบายกายสบายใจมากเพราะได้ปล่อยวางภาระต่างๆ ตั้งแต่การรับผิดชอบเงินทองจำนวนมาก การดูแลการค้าขายให้กับครอบครัวและญาติพี่น้อง รวมทั้งการดูลรักษาไร่นา วัวควาย และทรัพย์สมบัติที่ท่านแบกอยู่ ผู้เดียวมาตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี ครั้นบวชได้ ๑๘ วัน โยมมารดาก็ขอให้ท่านสึก เพราะเลยกำหนดเวลาที่อนุญาตแล้ว แต่ด้วยความฝักใฝ่ในการศึ กษาธรรมะของท่าน จึงได้ขอโยมมารดาบวชต่อให้ครบ ๑ พรรษา
ด้วยความมุ่งมั่นของหลวงปู่เปลี่ยนที่จะศึกษาธรรมให้ถึงที่สุดของพระศาสนา ท่านจึงพยายามบ่ายเบี่ยงโยมมารดาในการสึกและออกธุดงค์ไปตามจังหวัดต่างๆ เพื่อแสวงหาโมกขธรรม และได้ศึกษาธรรมกับครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งในภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคเหนือ ครูบาอาจารย์ที่ได้พบนั้นต่างมีเมตตาเทศน์อบรม ทำให้ท่านมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมยิ่งขึ้นไปเป็นลำดับ ครูบาอาจารย์ที่ท่านอยู่ฝึกปฏิบัติธรรมด้วยนานๆ และอุปัฏฐากใกล้ชิดคือ หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม หลวงปู่แหวน สุจิณโณ และยังมีครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ ที่ท่านได้พบ เช่น หลวงปู่สิม พุทธาจาโร พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่คำดี ปภาโส พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (วัน อุตตโม) หลวงปู่แว่น ธนปาโล หลวงพ่อผาง จิตตคุตโต
ท่านเป็นพระป่ากรรมฐานผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีความเพียรอันยิ่งในการปฏิบัติ เป็นพระสุปฏิปันโนและเป็นพระแท้ที่เปี่ยมด้วยปัญญาอันลึกซึ้งและเมตตาอันไร้ประมาณ ท่านมีปณิธานแน่วแน่ที่จะสอนธรรมให้แก่พุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกลอย่างไม่กลัวความเหน็ดเหนื่อยแม้ในยามที่ท่านมีอายุมากแล้ว ธรรมบรรยายของท่านนั้นล้วนเป็นสิ่งที่ถูกต้องตรงจริตของผู้ฟัง ด้วยภาษาที่ประณีต ไพเราะ และเข้าใจง่าย สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาการปฏิบัติของตนได้เป็นอย่างดี คำสอนของหลวงปู่เปลี่ยนมุ่งเน้นการปฏิบัติที่เป็นลำดับขั้นตอนนำไปสู่พระนิพพานอันเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์สุขของสรรพจิตทั้งหลาย ตามพระพุทธบัญชาที่ว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสน้อย มีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี”
หลวงปู่เปลี่ยนเป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญวิเวก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ จนกระทั่งปัจจุบัน